มือใหม่ดูบอลยังไงไม่ให้งง กับ 12 ศัพท์ในสนามที่สาวๆ ควรรู้ไว้!
Throw In ลูกทุ่ม
Throw-In หรือภาษาไทยที่เรารู้จักกันคือ “ลูกทุ่ม” ไม่ได้หมายถึงลูก 19 นาฬิกาที่หลายๆ คนชอบเล่น (พอเล่นไปแล้วก็แห้งๆ อยู่ดี แหะๆๆ) แต่ลูกทุ่มคือลูกที่ใช้ 2 มือจับลูกบอลขว้างเหนือหัวจากจุดที่เตะออกด้านข้างของสนามนั่นเอง
ซึ่งในการทุ่มแต่ละครั้งเท้าห้ามแตะเส้น และลูกบอลต้องอยู่เหนือหัวด้วยจ้าาา
Corner ลูกเตะมุม
สำหรับลูกเตะมุมก็จะคล้ายๆกับลูกทุ่มแต่เปลี่ยนจากเตะออกข้างไปเป็นเส้นหลังของฝั่งรับแทนซึ่งการจะได้ลูกเตะมุมคือเมื่อนักบอลฝั่งรับเตะหรือสัมผัสบอลจนออกเส้นหลังของตัวเองไปเองเช่นเตะออกหรือสกัดลูกบอลจนออกเส้นหลังไปเอง
พอกรรมการบอกว่าเป็นลูกเตะมุม กรรมการจะชี้ไปที่มุมของสนามเพื่อให้นักบอลไปตั้งเตะตรงนั้น จะเตะโด่งเข้าไปแถวหน้าโกลเลย หรือจะเตะส่งสั้นๆ แล้วเคยทำประตู อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแผนการเล่นของแต่ละทีม
Goal-Kick ลูกเตะจากประตู
แล้วถ้าฝั่งบุกเป็นคนเตะออกหลังไปเองล่ะ? แน่นอน…ก็จะกลายเป็นลูก Goal-Kick หรือ ลูกที่เตะจากประตู ซึ่งฝั่งที่เป็นฝ่ายรับจะได้เตะลูกจากหน้าประตูตัวเอง ซึ่งจะมีขอบเขตที่สามารถวางบอลแล้วเตะออกมาได้นั่นเอง
Offside ลูกล้ำหน้า
เป็นอีกคำที่ได้แล้วอาจจะงงๆ ในช่วงแรกที่ดูบอล แต่พอดูไปเรื่อยๆ ก็จะเริ่มเข้าใจบ้างน่ะนะ… แต่ไม่ต้องห่วงเราจะมาอธิบายให้เข้าใจให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้นะ
เจ้าลูกล้ำหน้า หรือที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่า Offside เกิดจากฝั่งบุกส่งบอลให้เพื่อนโดยที่ยืนอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าคนสุดท้ายของฝ่ายรับ ทำให้ลูกนั้นเป็นลูกล้ำหน้านั้นเอง
Foul ฟาวล์
เป็นอีกคำที่เรามักจะได้ยินบ่อยตามกีฬาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบาสเกตบอล วอลเลย์บอล หรือกีฬาใดก็ตามที่มีกรรมการ การฟาวล์คือการทำผิดกฎต่างๆ เช่น การดึง การเหนี่ยว การสไลด์ฝั่งตรงข้ามในลูกที่อาจจะอันตราย หรือสไลด์สกัดจากด้านหลัง หรือสกัดใส่ตัวผู้เล่นแทนที่จะเป็นลูกบอล
และเมื่อกรรมการเห็นจะเป่านกหวีดให้หยุดเกมชั่วคราว แล้วเข้าไปคุยกับนักบอลที่ทำฟาวล์ ซึ่งการลงโทษก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการ และมีหลายระดับตั้งแต่ตักเตือน ให้ฟรีคิก ให้ใบเหลืองหรือใบแดง แม้กระทั่งให้จุดโทษก็ได้ด้วยเช่นกัน (ซึ่งแต่ละอย่างจะมีอธิบายต่อๆ ไปจ้า)
Freekick ลูกฟรีคิก
ฟรีคิก ถ้าให้แปลตรงตัวก็คือการได้เตะฟรีๆ นั่นแหละ ซึ่งลูกฟรีคิกโดยทั่วไปคือลูกตั้งเตะจากจุดใดจุดหนึ่งในสนาม ยกเว้นบริเวณกรอบเขตโทษของแต่ละฝั่ง ซึ่งการเตะลูกฟรีเกิดจากการที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งทำฟาวล์ และกรรมการตัดสินให้หยุดเกมชั่วขณะ และตัดสินว่าฝั่งใดควรได้ลูกฟรีคิกนั่นเอง..
Yellow Card / Red Card ใบเหลืองใบแดง
ในการฟาวล์แต่ละครั้ง นอกจากจะมีการตักเตือนแล้ว การให้ใบเหลืองใบแดงในแต่ละครั้งนั้น ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง หลายปัจจัยในแต่ละเหตุการณ์ รวมไปถึงดุลพินิจของกรรมการแต่ละคนด้วย
โดยทั่วๆ ไป ใบเหลืองมักจะได้หลังจากที่กรรมการตักเตือนผู้เล่นมากกว่า 1-2 ครั้งเลยให้ใบเหลืองเป็นการติดทัณฑ์บน และถ้ายังทำฟาวล์ซ้ำอีก และกรรมการเห็นว่าบ่อยเกินไป จะทำการให้ใบเหลืองใบที่สอง ซึ่งจะเท่ากับใบแดงแก่ผู้เล่นคนดังกล่าว
ส่วนใบแดงจะหมายถึงให้ผู้เล่นออกจากการแข่งขันทันที ซึ่งนอกจากการได้ใบเหลือง 2 ใบแล้วอีโวเป็นใบแดง 1 ใบแล้วเนี่ย ผู้เล่นยังมีสิทธิ์ในการโดนใบแดงทันทีได้ด้วยเช่นกัน เช่น ทำฟาวล์ในจังหวะที่รุนแรงและน่าเกลียดเกินกว่าจะตักเตือน กรรมการก็จะอันเชิญการ์ดที่เรียกว่า “ใบแดง” สั่งให้ผู้เล่นดังกล่าวออกจากเกมโดยทันที
และแน่นอนว่านอกจากผู้เล่นแล้ว ผู้จัดการทีมยังมีสิทธิ์ที่จะได้ใบแดงเช่นกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกรรมการว่าจะไล่ให้ผู้จัดการทีมไปอยู่ตรงไหน อาจจะไปอยู่ตรงสแตนด์เชียร์ (ซึ่ง เดวิด มอยส์ ผู้จัดการทีมขุนค้อน West Ham United และ อาร์แซน แวงเกอร์ อดีตกุนซือของ Arsenal ก็เคยโดนมาแล้วเช่นกัน)
Handball ลูกแฮนด์บอล
กติกาโดนทั่วไปของฟุตบอลคือการเลี้ยงบอลไปยิงประตู โดยที่ใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายในการสัมผัสลูกฟุตบอล ยกเว้นบริเวณช่วงแขนทั้งหมด ซึ่งบางครั้งก็จะมีนักบอลบางคนยกแขนยกมือมาขวางบอลเฉยเลย ซึ่งถือว่าเป็นการ Handball นั่นเอง แต่กลับกันถ้าเกิดนักบอลโดนบอลเตะอัดโดยไม่มีเจตนาใช้แขนมาขวางหรือบังลูกฟุตบอล กรรมการจะตัดสินให้เป็นลูก Ball-To-Hand แทน
ยกเว้นผู้รักษาประตูสามารถใช้แขนใช้มือสัมผัสได้นะ แต่ก็มีข้อกำหนดด้วยนั่นก็คือ สามารถจับบอลด้วยมือได้เฉพาะในกรอบสี่เหลี่ยมหน้าประตูเท่านั้น (เลยกว่านั้นก็ Handball ไปจ้า) และถ้าเพื่อนร่วมทีมส่งบอลมาให้ก็ไม่สามารถใช้มือจับได้เช่นกัน (นอกจากเพื่อนจะใช้หัวโหม่งลูกบอลมาให้จ้า)
Penalty ลูกจุดโทษ
และถ้าการฟาวล์ของนักบอลดันไปเกิดในกรอบเขตโทษ (กรอบสี่เหลี่ยมใหญ่ๆ บริเวณหน้าประตู) ไม่ว่าจะเป็นการทำแฮนด์บอล หรือ การฟาวล์แบบอื่นๆ กรรมการจะรีบวิ่งเข้ามาชี้ที่จุดขาวๆ แถวๆ นั้นพร้อมให้ลูกจุดโทษกับฝ่ายบุกทันที โดยลูกจุดโทษ จะเป็นการดวลกันแบบ 1-1 ระหว่างผู้รักษาประตู และ นักบอลฝั่งตรงข้าม ด้วยการยิงบอลลูกเดียว เข้าก็ได้ประตู เซฟได้ก็เป็นฮีโร่ไป
ซึ่งลูกจุดโทษ นอกจากจะได้มาจากการทำฟาวล์แล้ว ยังนำมาใช้ในการตัดสินตอนท้ายแมตช์สำคัญ เช่น รอบชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยต่างๆ หรือการเล่นเพื่อตัดสินการเข้ารอบ/ตกชั้น หลังจากที่แข่งกันเต็มเวลา ทั้งเวลาปกติและต่อเวลาพิเศษ จะใช้การดวลจุดโทษมาตัดสินกัน โดยที่จะยิงกันทีมละ 5 ลูก ใครเข้ามากกว่าก็ชนะไป แต่ถ้าเกิน 5 ลูกแล้วยังเสมออยู่ก็จะยิงต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผู้ชนะไปนั่นเอง
Formation รูปแบบการเล่น
สำหรับรูปแบบการเล่น หรือ Formation เรามักจะเห็นกันก่อนหน้าที่จะมีการแข่งขัน และจะเป็นการพูดถึงรูปแบบการเล่นของแต่ละทีมที่ผู้จัดการทีมวางแผนไว้แข่งกัน โดยจะเป็นตัวเลข 3-4 ตัวเรียงกัน เช่น 4-4-2, 5-3-2, และอื่นๆ โดยที่แต่ละตัวก็จะแทนตำแหน่งคร่าวๆ ในทีม เช่น 4-4-2 หมายถึง กองหลัง 4 คน กองกลาง 4 คน และกองหน้าอีก 2 คน (ซึ่งผู้จัดการทีมบางคนก็อาจจะใช้การพลิกแพลงตามสไตล์ของตัวเองไปจ้า)
Injury Time ทดเวลาบาดเจ็บ
และทุกครั้งที่มีการเป่านกหวีดเพื่อหยุดเกม ไม่ว่าจะเป็นจากการฟาวล์ หรือปัญหาอะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นในสนาม ในแต่ละครึ่งของเวลาที่เล่นไป จะมีการชดเชยเวลาที่ถูกหยุดไปด้วย Injury Time หรือที่เราคุ้นหูกันคือ การทดเวลาบาดเจ็บ นั้นเอง ซึ่งระยะเวลาที่ทดในแต่ละครึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการว่าควรจะทดกันเท่าไหร่
Linesman
ในแมตช์การแข่งขัน 1 แมตช์ นอกจากผู้เล่นทีมละ 11 คน กรรมการในสนามอีกคนนึงแล้ว ด้านข้างของสนามก็จะมีกรรมการอีก 2 คนที่ค่อยวิ่งขึ้นวิ่งลง และถือธงไว้ในมือ นั่นก็คือ Linesman หรือกรรมการริมเส้น ที่จะคอยดูว่าลูกฟุตบอลออกด้านข้าง ด้านหลัง หรือมีการทำล้ำหน้ารึเปล่า ซึ่งไลน์แมนในสนามจะมีสองคน วิ่งกันคนละฝั่งสนาม แต่จะแบ่งกันคนละครึ่งสนาม
ซึ่งไลน์แมนนอกจากจะทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ยังมีสิทธิ์ในการตัดสินการเล่นของผู้เล่นในสนามด้วย และนอกจากกรรมการที่วิ่งในสนาม และริมสนามอีก 2 คนแล้ว กรรมการคนที่ 4 ที่อยู่ในแต่ละแมตช์คือคนที่คอยยกแผ่นป้ายบอกทดเวลาบาดเจ็บ(และป้ายเปลี่ยนตัวผู้เล่น) นั่นเอง